Friday, April 25, 2008

แอบดู"บันทึกภายใน"ไมโครซอฟท์ เขียนโดยผู้รับช่วงต่อ"บิลเกตส์" (1)

บันทึกภายในไมโครซอฟท์ชิ้นนี้เขียนโดยผู้รับช่วงต่อเก้าอี้ประธานฝ่ายสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ต่อจากบิล เกตส์นามว่า "เรย์ ออซซี่ (Ray Ozzie)" บันทึกนี้ถูกส่งถึงพนักงานไมโครซอฟท์ก่อนจะมีข่าวว่าซีอีโอไมโครซอฟท์ สตีฟ บอลเมอร์ ส่งสัญญาณเลิกสนใจหุ้นยาฮูเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นัยสำคัญที่ทำให้บันทึกนี้น่าสนใจคือการเป็นเหมือนสัญญาณแรกจากออซซี่ ที่ชี้ว่าไมโครซอฟท์จะไปในทิศทางใดต่อจากนี้

เว็บไซต์เทคครันช์เผยแพร่บันทึกนี้โดยวิเคราะห์ว่า ออซซี่กำลังพยายามเปลี่ยนแปลงไมโครซอฟท์จากการเป็นผู้สร้างซอฟต์แวร์ให้เครื่องคอมพิวเตอร์พีซีหรือคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ มาเป็นผู้สร้างเครือข่ายการเชื่อมต่อที่ทำให้ผู้ใช้สามารถติดต่อสื่อสารกับอุปกรณ์นานาชนิดได้อย่างสะดวกสบาย

สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้แปลว่าออซซี่มองข้ามกรุสมบัติเดิมของไมโครซอฟท์อย่างระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (Windows) หรือชุดซอฟต์แวร์ออฟฟิศ (Office) แต่ออซซี่กำลังชี้ว่าคุณค่าของซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรองรับซอฟต์แวร์บริษัทอื่น มากกว่าจะขึ้นกับความสามารถในการทำงานของซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์เอง

เท่ากับว่าในความเห็นของออซซี่ ไมโครซอฟท์นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์อีกต่อไปแล้ว แต่เกี่ยวข้องกับบริการออนไลน์หรือ Web-based service

ทางรอดในยุคซอฟต์แวร์ตาย

เมื่อไมโครซอฟท์เป็นบริษัทที่รุ่งเรืองด้วยธุรกิจจำหน่ายซอฟต์แวร์ ไมโครซอฟท์จำเป็นต้องหาทางรอดในยุคที่ซอฟต์แวร์กำลังจะตายและธุรกิจเว็บไซต์รุ่งเรืองสุดขีด ในบันทึก ออซซี่ระบุว่าหัวใจของกลยุทธ์นี้คือการประสานโลกของเว็บไซต์และโลกของอุปกรณ์เข้าด้วยกัน

"เมื่อผ่านพ้นช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยุคของคอมพิวเตอร์พีซีปูทางให้เกิดเป็นยุคที่เว็บไซต์คือศูนย์กลางของประสบการณ์ออนไลน์ทุกชนิด ประสบการณ์นี้ไม่ได้เกิดทางเว็บบราวเซอร์ในคอมพิวเตอร์พีซีเท่านั้น แต่เกิดทางอุปกรณ์อื่นทั้งโทรศัพท์ เครื่องเล่นไฟล์มัลติมีเดีย อุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์หรือ set-top boxes โทรทัศน์ รถยนต์ และอีกมากมาย" ออซซี่เริ่ม "มี 3 แนวทางหลักในกลยุทธ์บริการของเรา เป็นแนวทางที่ชี้ว่าการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไมโครซอฟท์มีนับจากนี้จะถูกเชื่อมถึงกันทุกส่วน ทั้งซอฟต์แวร์ของผู้บริโภคทั่วไปและกลุ่มธุรกิจ"

กฏข้อแรกที่ออซซี่อยากให้พนักงานไมโครซอฟท์จดจำคือ "เว็บไซต์คือศูนย์กลางหรือฮับของเครือข่ายสังคมและเครือข่ายอุปกรณ์"

ออซซี่อธิบายว่าเว็บไซต์เป็นประตูบานแรกของประชาชนส่วนใหญ่ เชื่อว่าทุกแอปพลิเคชันบนโลกจะพากันพัฒนาความสามารถในการจำแนกและการใช้ประโยชน์จากนิสัยกิจวัตรออนไลน์ของผู้คน เพื่อผันตัวเองให้กลายเป็นรากเหง้าหรือ

สัญชาติญาณออนไลน์
ออซซี่เปรียบเปรยอย่างน่าสนใจ ว่าบริการของธุรกิจความบันเทิงและเครือข่ายชุมชนออนไลน์เช่น ลิงก์ (linking) แชร์ไฟล์ (sharing) จัดลำดับ (ranking) และใส่ชื่อป้ายบ่งบอกประเภทเนื้อหา (tagging) นั้นกำลังจะกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญคล้ายกับเมนูไฟล์ (File), แก้ไข (Edit) มุมมอง (View) และอื่นๆซึ่งเป็นรูปแบบของโปรแกรมในอดีต

ออซซี่เชื่อว่าคอนเซ็ปต์ “My Computer” จะสามารถพัฒนาจนกลายเป็นคอนเซ็ปต์ของเครือข่ายอุปกรณ์ แทนที่ผู้ใช้จะจัดการเฉพาะข้อมูลภายในไดร์ฟต่างๆของเครื่องคอมพิวเตอร์แบบเดิม แต่จะสามารถจัดการอุปกรณ์ไฮเทคทุกอย่างที่ผู้บริโภคซื้อหามาได้ผ่านเว็บไซต์ ทุกอย่างเชื่อมถึงกันแบบไม่มีรอยต่อ

ติดตามกฏข้อสองและสาม รวมถึงความเคลื่อนไหวเรื่องนโยบาย "เดินคนเดียว" เลิกสนใจยาฮูของไมโครซอฟท์ในบทความตอนต่อไป

Thursday, April 10, 2008

Saturday, April 5, 2008

จากกำแพงเพชรสู่ซิลิกอนวัลเลย์


ทุกวันนี้ไม่มีใครปฏิเสธไม่รู้จักกูเกิล แต่ใครจะรู้ว่ากูเกิลมีผู้บริหารที่เป็นคนไทย คนไทยคนนี้มาจากกำแพงเพชร มีความภูมิใจเต็มเปี่ยมที่ได้เกิดเป็นคนต่างจังหวัด ผลักดันตัวเองให้ก้าวเดินด้วยความฝันไม่ใช่เงินทอง ผ่านเส้นทางจากโรงเรียนวัดสู่โรงเรียนบริหารธุรกิจสแตนฟอร์ด ดำรงความเป็นไทยจนฝรั่งยอมรับยกนิ้วให้ กระทั่งเข้าสู่สังเวียนซิลิกอนวัลเลย์ภายใต้ร่มเงาของกูเกิลในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดด้วยวัยเพียง 30 ปี


หวังว่าแนวคิดของผู้ชายชื่อเรืองโรจน์ พูนผล หรือ"กระทิง"คนนี้ จะกระตุ้นความฝันของคนไทยหลายๆคนให้สูบฉีด และเป็นกรณีศึกษาให้กับคนไทยหัวใจไม่แพ้ ซึ่งจะเป็นตัวจุดประกายให้ชาติไทยพัฒนาในที่สุด

ผมชื่อกระทิงเพราะแม่

"คุณแม่เล่าว่าผมคลอดยากมาก คุณหมอต้องใช้เครื่องมือดูดออกมา ตรงศีรษะก็เลยมีโหนกเล็กๆตอนนี้มาจับก็ยังมีอยู่ คุณแม่ตั้งชื่อนี้เพราะอยากให้เป็นคนสู้ปัญหา ตอนคลอดผมตัวเล็กมากเหมือนปลาช่อน ออกจากตู้อบแม่ต้องเอามาวางไว้ตรงอกเพื่อให้แน่ใจว่ายังหายใจอยู่ แม่อยากให้ผมเป็นคนเข้มแข็งเหมือนกระทิงที่ควิดสู้ศัตรู ซึ่งผมว่าจะให้ตั้งชื่อว่าควายก็กระไรอยู่" กระทิงเล่าถึงที่มาของชื่อนี้อย่างฮา

กระทิงบอกว่าภูมิใจมากที่เป็นคนต่างจังหวัดและได้สู้ชีวิตสมใจแม่ แรงใจจากฮีโร่ในฝันอย่างไอสไตน์และอาจารย์โรงเรียนวัดคูยางทำให้เด็กชายกระทิงมีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักฟิสิกส์

"โรงเรียนไม่มีอุปกรณ์ไฮเทค แต่คุณครูสอนให้เด็กรักวิทยาศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว ผมฝันอยากได้เหรียญทองฟิสิกส์โอลิมปิก ผมก็บ้าอยู่คนเดียว พยายามมากกว่าคนอื่น ทุกวันนี้ผมนอนวันละ 4 ชั่วโมงเพื่อให้มีเวลามากกว่าคนอื่น มันเหมือนในหนัง ไม่มีข้อจำกัดในความฝันของเรา ผมไม่ได้บอกว่าผมเก่งแต่ผมแค่ไม่จำกัดความฝัน ถ้ามีความฝัน อย่าให้ใครมากำหนดความฝันของเรา"

หลังจบการศึกษาจากกำแพงเพชรพิทยาคม กระทิงเข้าศึกษาต่อที่คณะวิศวกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถคว้าเกียรตินิยมแม้ผลการเรียนในสองปีแรกจะตกต่ำเพราะต้องดูแลคุณแม่ที่ป่วยหนัก เมื่อคุณพ่อกลับมารับช่วงดูแลคุณแม่ต่อจึงสามารถฮึดเรียนช่วงสองปีหลังได้เต็มที่ จากนั้นจึงเบนเข็มมาศึกษาต่อปริญญาโทด้านการตลาดภาคภาษาอังกฤษหรือ MIM ที่ธรรมศาสตร์

"คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์คือฮีโร่ด้านการตลาดของผม คนนี้ใกล้ตัวและจับต้องได้มากกว่าไอสไตน์ ผมอยากมีความคิดกระบวนการทางกลยุทธ์แบบคุณสมคิดเลยสนใจเรียนด้านการตลาด ช่วงนั้นทำงานที่บริษัท P&G ต้องนั่งรถตู้ ต่อเรือ มอเตอร์ไซค์มาเรียนลำบากมาก ช่วงที่อยู่ P&G ก็ค่อยๆไต่ขึ้นมา ทำ 6 ปี 6 แผนก"

หลังจากจบการศึกษาที่ธรรมศาสตร์ กระทิงเข้าศึกษาที่โรงเรียนบริหารธุรกิจสแตนฟอร์ด (Stanford Business School) ช่วงนี้กระทิงต้องผจญกับปัญหา Culture Shock จนทำให้ต้องร้องว่า Oh my god จนนับครั้งไม่ถ้วน

"ช่วงนั้นผมพยายามทำ Americanize หรือการทำให้ตัวเองมีความเป็นอเมริกัน สุดท้ายก็คิดว่ายังไงก็ยังเป็นคนไทย" กระทิงเล่า "เราเป็นเหมือนพริกไทยเม็ดเล็กๆแต่เผ็ดร้อน เราจริงใจมีน้ำใจให้เพื่อน ผมทำผัดไทแจกเพื่อนฝรั่งแล้วอธิบายว่ามันเป็นวัฒนธรรมของคนไทย ขอย้ำว่าอย่าลืมความเป็นไทย อย่าอาย อย่าเปลี่ยนตัวเองเพราะแรงกดดันของคนอื่น สุดท้ายเพื่อนฝรั่งก็ยอมรับและเลือกเราเป็นหัวหน้ากลุ่ม แต่ทำนองเดียวกัน ก็อย่าเหลิง เรียนรู้จุดเด่นและจุดด้อยของวัฒนธรรมไทยด้วย"

ด้วยวัยเพียง 30 ปี กระทิงผ่านงานมาแล้วอย่างโชกโชน ทั้งการ startup หรือการเริ่มก่อร่างบริษัทไฮเทคในซิลิกอนวัลเลย์และขายให้นายทุน ทำงานเป็นที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์อย่างบริษัท McKinsey&Company หรือบริษัทการเงินและการลงทุนส่วนตัวกับบริษัท Navis Capital


"ตอนนั้นได้เสนองานเยอะ แม่โทรมาถามว่าทำงานอะไรอยู่ลูก ผมก็ตอบว่าเหมือนจอร์จ โซรอสล่ะแม่ ตอนนี้กำลังโจมตีเงินหยวนอยู่ ตอนนั้นได้เงินเยอะจริงแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาไม่มีความสุข ช่วงนั้นเลยคิดได้ว่าเราควรไดร์ฟ (ชีวิต) ด้วยความฝันไม่ใช่ด้วยเงิน ผมตัดสินใจอยากเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทในฝัน ไม่กูเกิลก็แอปเปิล สองบริษัทนี้เท่านั้น"

สัมภาษณ์ 9 รอบกว่าจะได้เข้ากูเกิล กระทิงเล่าว่าต้องทิ้งข้อเสนอรับเข้าทำงานถึง 5 แห่งเพื่อรอคำตอบรับเข้าทำงานกับกูเกิล สัมภาษณ์ทั้งสิ้น 9 รอบทุกแง่มุม เงินเดือนที่กูเกิลให้ไม่ได้มากกว่ารายอื่น แต่ให้หุ้นและสวัสดิการดีมาก โดยกระทิงเป็นหนึ่งในสามคนไทยในกูเกิล แต่กระทิงเป็นคนเดียวที่อยู่ในสายงานบริหาร

"สัมภาษณ์ครั้งนั้นยากมาก หากมีกรรมการคนเดียวใน 9 รอบนั้นสงสัยก็จะไม่ผ่านเลย ผมคิดว่าความ cool ของผมคือความเป็นคนไทย" ผลคือกระทิงได้รับตำแหน่ง Quantitative/Product Marketing Manager Google Inc. ดูแลการตลาดผลิตภัณฑ์เสิร์ชเอนจิ้นของกูเกิลทั้งภาคพื้นละตินอเมริกาและเอเชีย

กระทิงมองว่ากูเกิลนั้นเหมือนเมฆก้อนหนึ่ง ที่มีความวุ่นวายอยู่ภายในแต่ไม่ไร้ระเบียบ และเคลื่อนไหวในทางเดียวกันเป็นกลุ่มก้อน สามสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริษัทอย่างแลรี่ เพจ, เซอร์เกย์ บริน และอีริก ชมิดท์จะวางยุทธศาสตร์บริษัทในระยะสั้น ซึ่งไม่ต่างจากบริษัทส่วนใหญ่ในซิลิกอนวัลเลย์ที่วัดผลกันในเวลาเพียง 6 เดือนไม่ใช่ 1 ปี

"กูเกิลมีโปรแกรมนวด มีแคปซูลให้นอนคลายเครียด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่มีใครนอน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความกดดันที่ทำให้คิดว่าเราจะถ่วงเพื่อนไม่ได้ ขนาดพ่อครัวในกูเกิลยังต้องแข่งขันสร้างนวัตกรรมอาหารว่างไม่ให้แพ้ใคร อีกส่วนหนึ่งคือโครงการที่กูเกิลให้สิทธิ์พนักงานนำเวลางาน 20% มาสร้างสรรค์สิ่งใดก็ได้ที่อยากทำ ทุกคนเหนื่อยแต่เดินมาตาเป็นประกาย ลืมตาตื่นขึ้นมาทุกคนคิดแต่ว่าทำยังไงให้คนสามารถใช้กูเกิลแก้ปัญหาได้ ทุกคนมีความสนุกและความท้าทายที่ต้องการเปลี่ยนโลก เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมในจีน เพื่อนผมคนหนึ่งลุกขึ้นมาบอกว่า อยู่เฉยไม่ได้แล้ว เค้าใช้กูเกิลแม็ปส์ทำแผนที่ให้ชาวจีนดูว่าพื้นที่ใดปลอดภัยพอจะอพยพไปได้"

กระทิงรวบรวมเอาประสบการณ์ในฐานะ “คนวงใน” ที่ทำงานจริงในซิลิกอนวัลเลย์ นำเสนอข้อมูลที่มาที่ไปของความสำเร็จในโลกธุรกิจอินเทอร์เน็ตยุค 2.0 อย่างละเอียดไว้ในหนังสือ “บทเรียนธุรกิจร้อนๆจากซิลิกอนวัลเลย์” จัดพิมพ์โดยเครือเนชั่นกรุ้ป เปิดตัวหนังสืออย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

อยากกลับบ้าน "ผมอยากกลับบ้าน คิดถึงแม่ แต่ถ้ากลับมาตอนนี้ก็ทำอะไรได้น้อยมาก เหมือนเด็กในตู้อบ ต้องรอวันพร้อมก่อนจึงจะออกมาได้ ผมจะกลับมาเมื่อพร้อม เมื่อมี connection ที่จะช่วยเหลือประเทศได้ เมื่อพร้อมจะกลับมาแน่ๆ"

กระทิงระบุว่าอยากทำประโยชน์เพื่อระบบการศึกษาไทย เนื่องจากเชื่อว่ามีผลต่อแนวคิดและทัศนคติของเด็กอย่างมาก

"การศึกษามีผลเยอะจริงๆ การศึกษาที่ดีจะทำให้เด็กมีไอเดีย พระเจ้าให้ความบ้าพลัง ให้พลังงานมหาศาล ให้ความมุ่งมั่นกับผม ครอบครัวที่อบอุ่นทำให้ผมมีความมั่นใจและความตั้งใจที่แน่ชัด ขณะที่อาจารย์ของผมที่โรงเรียนวัดคูยางหรือกำแพงเพชรพิทยาฯปลูกฝังให้ผมรักวิทยาศาสตร์"
แม้โครงการ 20% จากเวลางานของกระทิงนั้นจะหมดไปกับการทำงานและการนั่งเครื่องบินไปต่างประเทศ แต่กระทิงแย้มว่ากำลังตั้งใจสร้างระบบเรียนรู้แบบเปิดเพื่อเด็กต่างจังหวัดในพื้นที่ห่างไกล และเมื่อถามเจ้าของฉายา "The incredibull" คนนี้ว่ามีคู่ใจหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่ามีแล้วเรียบร้อย

"แฟนดุครับ ถึงได้ปราบผมได้"


โดย ผู้จัดการออนไลน์
4 เมษายน 2551