Monday, September 22, 2008

ถนนเจริญกรุง















ถนนเจริญกรุง
 เป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2404 แล้วเสร็จใน พ.ศ.2407 เริ่มตั้งแต่ถนนสนามไชยถึงแม่น้ำเจ้าพระยาที่ถนนตก การก่อสร้างถนนเจริญกรุงนั้น เนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถนนเดิมที่สร้างขึ้นบริเวณพระบรมมหาราชวัง เช่น ถนนพระลาน ถนนสนามไชย ถนนข้างกำแพงด้านตะวันตกของพระบรมมหาราชวัง ถนนท้ายวังและถนนหน้าวังหน้า ถนนหน้าวังพระศรีสรรเพชญ์ ถนนพระจันทร์ และถนนเสาชิงช้า ถนนเหล่านี้ใช้สัญจรในฤดูแล้ง และกลายเป็นถนนโคลนในฤดูฝน พระองค์ได้ทรงรับคำกราบบังคมทูลอธิบายจากชาวต่างประเทศว่า ในประเทศทางยุโรปนั้น จะสร้างถนนที่สามารถใช้ได้ทุกฤดูกาล โดยใช้อิฐและหินก้อนใหญ่ก้อนเล็กปูเป็นชั้นๆ ทำให้พระองค์สนพระทัยมาก ประกอบกับกงสุลจากประเทศต่างๆ ได้เข้าชื่อถวายฎีกา ขอพระราชทานถนนโดยได้กราบบังคมทูลว่า "ชาวยุโรปเคยขี่รถขี่ม้า เที่ยวตากอากาศ ได้ความสบายไม่มีไข้ เข้ามาอยู่กรุงเทพมหานครไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถขี่ม้าไปเที่ยวพากันเจ็บไข้เนืองๆ"
เมื่อพระองค์ได้ทรงทราบความในหนังสือแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ 
เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง และพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง เป็นนายงาน สร้างถนนจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ผ่านสำเพ็ง (ย่านการค้าของชาวจีน) ผ่านบางรัก (ย่านการค้าและที่อยู่อาศัยของชาวตะวันตก) ถึงบางคอแหลม (ถนนตก)


ถนนเจริญกรุงแบ่งเป็น 2 ตอนคือ ถนนเจริญกรุงตอนใน โปรดให้เจ้าพระยายมราช (ครุฑ)
 เป็นแม่กอง พระยาบรรหารบริรักษ์ เป็นนายงาน ลงมือตัดถนนเมื่อ พ.ศ.2405 จากหน้าวัดพระเชตุพนฯ ผ่านสะพานมอญ สี่กั๊กพระยาศรี มาถึงประตูยอด* มีความกว้าง 4 วา หรือ 8 เมตร การก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนในนี้เดิมกำหนดให้ตัดตรงจากสะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็ก) ถึงกำแพงเมืองด้านถนนสนามไชย แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทักท้วงว่า การสร้างถนนตรงมาสู่พระบรมมหาราชวังอาจเป็นชัยภูมิให้ข้าศึกใช้ตั้งปืนใหญ่ยิงทำลายกำแพงเมืองได้ จึงต้องเปลี่ยนแนวถนนมาหักมุมเลี้ยวตรงเชิงสะพานดำรงสถิต

ตอนที่สองเรียก ถนนเจริญกรุงตอนนอก จากถนนตก ผ่านมาสามแยกถึงประตูยอด โดยตัดถนนกว้าง 5 วา 2 ศอก หรือ 11 เมตร เป็นระยะทาง 
25 เส้น 10 วา 3 ศอก ในการสร้างถนนเจริญกรุง พระองค์โปรดให้สร้างตึกแถวชั้นเดียวตลอดสองฟากถนน พระราชทานแก่พระราชโอรสและพระราชธิดา เพื่อเก็บผลประโยชน์จากค่าเช่าตึกแถวร้านค้าของชาว
จีน และชาวต่างประเทศ ทำให้เกิดการขยายตัวทางก
ารค้าสองฟากถนนเจริญกรุงมากยิ่งขึ้น 

เมื่อสร้างถนนเจริญกรุงเสร็จใหม่ๆ นั้น ยังไม่ได้พระราชทานนาม จึงเรียกกันทั่วไปว่า ถนนใหม่ และชาวยุโรปเรียกว่า 
นิวโรด (New Road) ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนว่า 
"ถนนเจริญกรุง" ซึ่งมีความหมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง เช่นเดียวกับชื่อถนนบำรุงเมืองและถนนเฟื่องนคร ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในคราวเดียวกัน













ถนนเจริญกรุงในปัจจุบัน และอดีต


*ประตูยอด สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 พร้อมกับกำแพงเมืองและป้อมกำแพงเมือง สร้างเป็นประตูไม้ และพระราชทานชื่อว่า "ประตูพฤฒิมาศ" เป็นประตูทางเข้า - ออก ของกำแพงเมืองอยู่ในย่านสำเพ็ง ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการตัดถนนเจริญกรุงผ่านประตูนี้ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ถนนเจริญกรุงเป็นถนนที่มียวดยานพาหนะแล่นผ่านเป็นจำนวนมาก จึงได้เปลี่ยนช่องประตูเป็น 3 ช่อง และด้านบนแต่ละยอดจะมียอดแหลมประดิษฐ์ลวดลายสวยงาม เรียกว่า ประตูสามยอด แต่เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไปประตูนี้ได้ทรุดโทรม และได้มีการขยายถนนเจริญกรุง ประตูสามยอดกีดขวางการจราจรจึงต้องถูกรื้อถอนจนไม่เหลือร่องลอยเดิมเหลือไว้เพียงชื่อ ย่านที่ติดกับพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์จวบจนปัจจุบัน)











No comments: